ประวัติมูลนิธิ
เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นมงคลวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงรับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาจารึกภาษาตะวันออก) จากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยความร่วมมือของนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดพิมพ์จำหน่ายหนังสือรวมพระฉายาลักษณ์ นำเงินรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นกองทุนเริ่มแรกสำหรับเก็บดอกผลเพื่อพระราชทานเป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนผู้ขัดสน ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งได้ทรงพระกรุณา พระราชทานชื่อทุนว่า"ทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา"
ต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคสมทบเพิ่มขึ้น เห็นควรขยายโครงการทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาให้มั่นคงกว้างขวางขึ้นจึงดำเนินการจดทะเบียนเงินกองทุนดังกล่าวขึ้นเป็นมูลนิธิ และได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า "มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา"ตามชื่อทุนเดิมที่ได้รับพระราชทานแล้ว ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิฯ ด้วย
มูลนิธิฯ ได้เริ่มให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษาทุกระดับที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา โดยเริ่มให้ทุนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน ได้ให้ทุนการศึกษาไปแล้วกว่าสองหมื่นทุน เป็นเงินกว่าสองร้อยล้านบาท
กองทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มีรายได้จากการบริจาคและการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ออกจำหน่าย และจากสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ที่จัดทำโดยมูลนิธิฯ เช่น นามานุกรมวรรณคดีไทย ตราแผ่นดิน ตราราชสกุลและสกุล อักษรพระนาม และนามย่อ เป็นต้น
วัตถุประสงค์ในการตั้งมูลนิธิฯ
พระนามและรายนามคณะกรรมการ
พระนามและรายนามคณะกรรมการ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์
ลำดับ | รายนามคณะกรรมการ | ตำแหน่ง | |
---|---|---|---|
1 | ท่านผู้หญิงนราวดี | ชัยเฉนียน | ประธานกรรมการ |
2 | นายธารินทร์ | นิมมานเหมินท์ | รองประธานกรรมการ |
3 | คุณหญิงแสงเดือน | ณ นคร | กรรมการ |
4 | รศ.คุณหญิงสุมณฑา | พรหมบุญ | กรรมการ |
5 | คุณหญิงกษมา | วรวรรณ ณ อยุธยา | กรรมการ |
6 | นายเดโช | สวนานนท | กรรมการ |
7 | นายสุวัฒน์ | เงินฉ่ำ | กรรมการ |
8 | นายสมศักดิ์ | วิราพร | กรรมการ |
9 | นายทรงฤทธิ์ | รัตนดิลก ณ ภูเก็ต | กรรมการ |
10 | นายสมเกียติ | ชอบผล | กรรมการ |
11 | นางโฉมฉาย | เหล่าสุนทร | กรรมการและเหรัญญิก |
12 | นางวัลลิยา | ปังศรีวงศ์ | กรรมการและผู้ช่วยเหรัญญิก |
13 | ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี | ศรีอรุณ | กรรมการและเลขานุการ |
14 | รศ.จิรัสสา | คชาชีวะ | กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
คุณหญิงชวลี | อมาตยกุล | กรรมการกิตติมศักดิ์ | |
นางชญานุตม์ | อินทุดม | กรรมการกิตติมศักดิ์ | |
นางสาวอรวรรณ | แย้มพลาย | กรรมการกิตติมศักดิ์ |
ตราสาร
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
หมวดที่ 1
ชื่อ เครื่องหมาย และสำนักงานที่ตั้ง
ข้อ 1 มูลนิธินี้ชื่อว่า “ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”
ย่อว่า ม.ส.ท.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า PRINCESS MAHACHAKRI SIRINDHORN FOUNDATION
ย่อว่า P.M.S. FOUNDATION
มีคำขวัญว่า “เพื่อการศึกษาของชาติ”
ข้อ 2 เครื่องหมายของมูลนิธินี้ คือ อักษรย่อ ม.ส.ท. ข้อความ “มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”
อยู่ในแถบแพร ภายใต้อักษรย่อ และประกอบขึ้นเป็นรูปทรงจอมแห
ข้อ 3 สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ เลขที่ 37/2 ซอยเจริญใจ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา
กรุงเทพมหานคร
หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ
4.1 เพื่อให้ทุนอุดหนุนการศึกษาแก่ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทุกระดับการศึกษา
4.2 เพื่อร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณะประโยชน์
4.3 เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้วยการจัดพิมพ์หนังสือ จัดทัศนศึกษาหรือจัดกิจกรรมอื่น ๆ
ที่เป็นการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ
4.4 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
หมวดที่ 3
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
ข้อ 5 ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก คือ เงินสดเป็นทุนเริ่มแรก จำนวน 100,000 บาท
ข้อ 6 มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
6.1 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้
มูลนิธิต้องรับผิดชอบใน หนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
6.2 เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
6.3 ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
หมวดที่ 4
คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
ข้อ 7 กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้
7.1 มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
7.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
7.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
ข้อ 8 กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
8.1 ถึงคราวออกตามวาระ
8.2 ตายหรือลาออก
8.3 ขาดคุณสมบัติตามตราสารข้อ 7
8.4 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก
โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของ คณะกรรมการมูลนิธิ
หมวดที่ 5
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 9 มูลนิธินี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คน
ประกอบด้วยประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานกรรมการมูลนิธิ เลขานุการมูลนิธิ เหรัญญิก และ
ตำแหน่งอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ 10 ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของ
มูลนิธิขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่
เห็นสมควรตามตราสาร
ข้อ 11 วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้ ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เลือกตั้ง
ประธานกรรมการมูลนิธิ และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามตราสาร
ข้อ 12 กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ข้อ 13 เพื่อให้การดำเนินงานของมูลนิธิได้เป็นไปโดยติดต่อกันเมื่อคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิ
ได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบ 2 ปี (ครึ่งหนึ่งของวาระการดำรงตำแหน่ง) ให้มีการจับสลากออกไป
1 ใน 2 ของจำนวนกรรมการมูลนิธิที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการดำเนินงาน ของมูลนิธิครั้งแรก
ข้อ 14 การเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติ
ของที่ประชุม
ข้อ 15 กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือโดยการจับสลากในวาระแรก อาจได้รับเลือกเข้า
เป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ 16 ถ้าตำแหน่งกรรมการมูลนิธิว่างลง ให้คณะกรรมการมูลนิธิที่เหลืออยู่ตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการ
มูลนิธิแทนตำแหน่งที่ว่าง กรรมการมูลนิธิผู้ได้รับการตั้งซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่าวาระของผู้ที่ตนแทน
หมวดที่ 6
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 17 คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และ
ภายใต้ข้อบังคับตราสารนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
17.1 กำหนดนโยบายของมูลนิธิ และดำเนินการตามนโยบายนั้น
17.2 ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของมูลนิธิ
17.3 เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงินและบัญชีงบดุล รายได้-รายจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทย
17.4 ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิและวัตถุประสงค์ของตราสารนี้
17.5 ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
17.6 แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่าง
ของมูลนิธิภายใต้การควบคุมของ คณะกรรมการมูลนิธิ
17.7 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์เชิญ
ผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
17.8 เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
17.9 แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ มติให้ดำเนินการตามข้อ 17.7, 17.8
และ 17.9 ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุมและที่ปรึกษา ตามข้อ 17.8 ย่อมเป็นที่
ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น
ข้อ 18 ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
18.1 เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
18.2 สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
18.3 เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและในการการทำนิติกรรมใด ๆ
ของมูลนิธิหรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ตราสาร และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของ
มูลนิธิ และในอรรถคดีนั้น เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ที่ทำการแทน หรือ กรรมการมูลนิธิ
2 คน ได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
18.4 ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามตราสารและมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 19 ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติ
หน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ประธาน มอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ 20 ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุม
คราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุม เลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับ
การประชุมคราวนั้น
ข้อ 21 เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประจำของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป
รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ และ
ทำรายงานการประชุม ตลอดจนรายงานกิจการของมูลนิธิ
ข้อ 22 เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน
ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่
คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ 23 สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด โดยทำเป็นคำสั่ง
ระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ 24 คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของมูลนิธิได้
หมวดที่ 7
อนุกรรมการ
ข้อ 25 คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้งให้
เป็นคณะอนุกรรมการประจำ หรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้ และในกรณีที่
คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขานุการ หรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้
ก็ให้อนุกรรมการแต่ละคณะแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ข้อ 26 อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำ ส่วนคณะอนุกรรมการ
ประจำอยู่ในตำแหน่ง ตามเวลาที่ คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ใน
ตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งและ อนุกรรมการที่พ้นจาก
ตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
26.1 อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
26.2 อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย
หมวดที่ 8
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 27 คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุก ๆ ปี ภายในเดือนมิถุนายน และต้อง
มีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุม อย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 28 การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่
2 คนขึ้นไป แสดงความประสงค์ ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทน ขอให้มีการประชุม
ก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ 29 กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด
ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับกำหนดการประชุมให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง และ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุมให้ใช้ ข้อ 27 บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 30 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการหากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนน เสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่
ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อย ประธานกรรมการมูลนิธิ
มีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธาน
กรรมการ มูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้
ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงาน ประจำ หรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ใน
ดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 31 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือประธานที่
ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้ บุคคลที่เป็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้
สังเกตการณ์หรือเพื่อชี้แจงหรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้
หมวดที่ 9
การเงิน
ข้อ 32 ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิ ในกรณีที่ทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่าย
เงินได้คราวละไม่เกิน 200,000 บาท ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ
มูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจ ของประธานกรรมการมูลนิธิ
ให้จ่ายได้แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ 33 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท
ข้อ 34 เงินสดของมูลนิธิให้นำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือนำไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือ
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจหรือจัดการอย่าง หนึ่งอย่างใดที่มีหลักฐานประกันมั่นคงตามที่คณะกรรมการ
มูลนิธิฯ มีมติเป็นเอกฉันท์
ข้อ 35 การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิหรือรอง
ประธานกรรมการกับเลขานุการ หรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง จึงจะเบิกจ่ายได้
ข้อ 36 ในการใช้จ่ายเงินของมูลนิธิ ให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิ
และเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงิน สมทบทุนโดยเฉพาะ
ข้อ 37 ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจน
กำหนดอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับ การรับและจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ 38 ให้มีผู้สอบบัญชีของมูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการมูลนิธิเห็นชอบและแต่งตั้งจากบุคคลที่มิใช่กรรมการ
หรือเจ้าหน้าที่อื่นของมูลนิธิ โดยจะให้ ดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์ หรือได้รับค่าตอบแทนอย่างไร
สุดแต่ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิจะกำหนด
ข้อ 39 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่ตรวจบัญชีของมูลนิธิ และรับรองบัญชีงบดุลประจำปีที่คณะกรรมการ
มูลนิธิจะต้องรายงานต่อกระทรวง มหาดไทย ผู้สอบบัญชีมีสิทธิตรวจสอบบัญชีและเอกสารที่
เกี่ยวข้อง ตลอดจนสอบถามกรรมการมูลนิธิและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิในเรื่อง ใด ๆ ที่เกี่ยวกับการเงิน
การบัญชี และเอกสารดังกล่าวได้
หมวดที่ 10
การแก้ไขเพิ่มเติมตราสาร
ข้อ 40 การแก้ไขเพิ่มเติมตราสารจะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการ
มูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และมติให้แก้ไข หรือเพิ่มเติม
ตราสารต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน กรรมการที่เข้าประชุม
หมวดที่ 11
การเลิกมูลนิธิ
ข้อ 41 ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการ หรือโดยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมดของ
มูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ยกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ “ มูลนิธิสายใจไทย ” ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ 42 การสิ้นสุดของมูลนิธินั้นนอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้
ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
42.1 เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่น
เต็มจำนวน
42.2 เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในตราสาร
42.3 เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวน 2 ใน 3 มีมติให้ยกเลิก
42.4 เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หมวดที่ 12 บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ 43 การตีความในตราสารของมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัย ให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของ
จำนวน กรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 44 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาบังคับใช้ ในเมื่อตราสาร
ของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้
ข้อ 45 มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการ
ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง
--------------------------------------------------------
2 มีนาคม 2563