ประชาสัมพันธ์

รายงานพิเศษจากมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง "พงศาวดารจีน ฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา"

13 ตุลาคม 2566

รายงานพิเศษมติชนสุดสัปดาห์
พงศาวดารจีนฉบับภาษาไทย
ฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณm
 

การเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาวจีนเข้ามายังในดินแดนไทย ส่งผลต่อการรับเอาศิลปวัฒนธรรมจีนเข้ามาอยู่ในศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นงานช่างทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม รวมถึง งานวรรณกรรมจีนจำนวนหนึ่ง ที่แปลเป็นภาษาไทย  

ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ อธิบายว่า ความคิดของชาวไทยในเวลานั้นเข้าใจว่าวรรณกรรมที่แปลมานั้นคือ “พงศาวดาร” ฉบับทางราชการของจีน  จึงเรียกรวมวรรณกรรมจีนแปลเหล่านี้ว่า “พงศาวดารจีน” แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว “พงศาวดารจีน” ส่วนใหญ่แปลมาจาก “นิยายอิงประวัติศาสตร์จีน”

พงศาวดารจีนที่แปลเป็นภาษาไทยมีหลายที่มา ทั้งที่เป็น “นิยายอิงพงศาวดาร” หรือที่เราอาจเรียกใหม่ว่าเป็น “พงศาวดารจีน”แท้ๆ กับ พงศาวดารจีนที่แปลมาจากวรรณกรรมจีนประเภทอื่น เช่น แปลจาก “นิยาย” บ้าง ฯลฯ

แต่เมื่อมีการนำเข้ามาจัดไว้เป็นกลุ่มวรรณกรรม “พงศาวดารจีน” ในคราวที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ ตำนานหนังสือสามก๊ก (พ.ศ.2471) ก็ทรงจัดรวมเรื่องเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด เพราะทรงเห็นว่าเกี่ยวเนื่องกับพงศาวดาร
(รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมใน “พงศาวดารจีนฉบับภาษาไทย แปลมาจากไหน” ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 มค.-มี.ค.2549)

พงศาวดารจีนเริ่มแปลในสมัยรัชกาลที่ 1 ถือเป็นการแปลงานวรรณกรรมจีนเป็นครั้งแรกเท่าที่พบหลักฐาน จำนวน 2 เรื่อง คือ ไซ่ฮั่น อำนวยการแปลโดย กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง) และสามก๊ก อำนวยการแปลโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
จากนั้นมีการแปลงานดังกล่าวโดยการอุปถัมภ์จากราชสำนักและขุนนางออกมาจำนวนหลายเรื่อง
ปัจจุบันหนังสือชุดนี้กลายเป็นหนังสือที่หายาก แต่ตอนนี้จะไม่หายากอีกต่อไปแล้ว


พงศาวดารจีนฉบับภาษาไทย
ฉบับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดพิมพ์หนังสือ "พงศาวดารจีนฉบับภาษาไทย" เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิดิ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 

การจัดพิมพ์หนังสือชุดพงศาวดารจีนฉบับภาษาไทยซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 35 เรื่อง รวม 118 เล่ม นอกจากจะเป็นที่ะลึกในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา และสนองพระราชดำริ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ ด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี และศิลปวัฒนธรรมของจีนด้วย 

พงศาวดารจีนฉบับภาษาไทยทั้ง 35 เรื่องนี้แปลจากต้นฉบับภาษาจีนในช่วงรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 6 องค์การค้าคุรุสภานำต้นฉบับที่พิมพ์เผยแพร่ในสมัยนั้นมาทยอยจัดพิมพ์ระหว่าง พ.ศ.2506-2516 รวมทั้งสิ้น 34 เรื่อง เป็นหนังสือ 116 เล่มเว้นเรื่องเช็งเฉียวซึ่งในเวลานั้นคงไม่สามารถหาต้นฉบับมาพิมพ์ได้ ปัจจุบันพบต้นฉบับเรื่องเช็งเฉียว 2 เล่ม (ไม่จบเรื่อง) เป็นฉบับโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร เล่ม 1 พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2458 และเล่ม 2 พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2459 

การพิมพ์หนังสือชุดดังกล่าวได้จัดพิมพ์เท่าที่พบต้นฉบับ โดยลำดับเรื่องตามยุคสมัยประวัติศาสตร์ดังนี้
1.ไคเภ็ก 2.ห้องสิน 3. เลียดก๊ก 4.ไซ่ฮั่น 5.ไต้ฮั่น 6.ตั้งฮั่น 7.สามก๊ก 8.ไซจิ้น 9.ตั้งจิ้น 10.น่ำซ้อง 11.ส้วยถัง 12.ซุยถัง 13.เสาปัก 14.ซิยินกุ้ย 15.ซิเตงซัน 16.ไซอิ๋ว 17.บูเช็กเทียน 18.หงอโต้ 19.น่ำปักซ้อง 20.บ้วนฮ่วยเหลา 21.โหงวโฮ้วเพงไซ 22.โหงวโฮ้วเพงหนำ 23.โหงวโฮ้วเพงปัก 24.ซวยงัก 25.ซ้องกั๋ง 26.เปาเล่งถูกงอั้น 27. ง่วนเฉียว 28.เม่งเฉียว 29.เองเลียดต้วน 30.อิวกังหนำ 31.ไต้อั้งเผ่า 32.เซียวอั้งเผ่า 33.เนียหนำอิดซือ 34.เม่งมวดเซงฌ้อ 35.เช็งเฉียว

ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ใช้วิธีการสำเนาภาพ (scan) ตามต้นฉบับพิมพ์ขององค์การค้าของคุรุสภา (เรื่องที่ 1 ถึงเรื่องที่ 34) และของโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร (เรื่องที่ 35) แต่ปรับตัวอักษรให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
ล่าสุด ทางมูลนิธิฯ ได้จัดพิมพ์เสร็จแล้ว 2 เรื่อง คือ ไคเภ็ก และ ห้องสิน 

พงศาวดารจีนเรื่อง “ไคเภ็ก” 
ไคเภ็ก เป็นนิยายพงศาวดารจีน  เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดีผู้สำเร็จราชการกรมท่าบัญชาให้หลวงพิพิธภัณฑวิจารณ์ (ฟัก โชติกสวัสดิ์) (ต่อมาเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี) แปลจากต้นฉบับภาษาจีนเมื่อพ.ศ. 2420  ในสมัยรัชกาลที่ 5  เป็นหนังสือ 18 เล่มสมุดไทย    เรื่องไคเภ็ก นี้ตรงกับต้นฉบับภาษาจีนชื่อไคกวนเหยี่ยนอี้ทงสูจื้อจ้วน (“นิยายอธิบายที่มาเรื่องกำเนิดโลก”)  บ้างเรียกว่า ไคพี่เหยี่ยนอี้ (“นิยายพงศาวดารเรื่องกำเนิดโลก” หรือ “คำอธิบายที่มาเรื่องกำเนิดโลก”) เป็นหนังสือ 6 เล่ม มีเนื้อหารวม 80 ตอน  นักวิชาการด้านวรรณคดีจีนเชื่อกันว่าเป็นผลงานของโจวโหยว (มีชีวิตในราวค.ศ. 1628 [พ.ศ. 2171]) แต่งในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ใน ตำนานหนังสือสามก๊ก ว่าเรื่อง ไคเภ็ก ฉบับภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรกเป็นหนังสือ 1 เล่มเมื่อพ.ศ. 2424 โดย โรงพิมพ์หมอบรัดเล   ภายหลังมีการพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง เช่น ฉบับพิมพ์ของโรงพิมพ์ไท (พ.ศ. 2463)  สำนักพิมพ์คลังวิทยา (พ.ศ. 2505)  องค์การค้าของคุรุสภา (พ.ศ. 2506) สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร (พ.ศ. 2513)  สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ (พ.ศ. 2549)   สำนักพิมพ์ศรีปัญญา (พ.ศ. 2451) 

ก่อนเริ่มเรื่องไคเภ็ก แม้จะมีข้อความว่านิยายพงศาวดารจีนเรื่องนี้ “เป็นหนังสือนักปราชญ์แต่งไว้เป็นลำดับกษัตริย์ แต่เห็นว่าเป็นความไม่จริงมาก” แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นได้ว่าเรื่องไคเภ็ก แสดงความคิดอันเป็นรากฐานอารยธรรมจีนไว้เป็นอันมาก 

เนื้อเรื่องไคเภ็ก เริ่มตั้งแต่การกำเนิดจักรวาล  การตั้งฟ้าดิน  กษัตริย์วงศ์ต่างๆ ตั้งระบบทางวัฒนธรรมเพื่อทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เป็นสุขและเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน เช่น ระบบปฏิทิน  ระเบียบสังคม  ขนบธรรมเนียม  ระบบการปกครอง  ระบบชลประทาน ฯลฯ  

เรื่องไคเภ็ก จึงเป็นคติ เป็นปรัชญาความคิดทางสังคมวัฒนธรรม  อารยธรรม  และการปกครองของจีนที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ความยึดมั่นในความคิด คุณธรรม อารยธรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยให้อารยธรรมจีน สังคม และประชาชาติจีนเจริญสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  เป็นคติที่ควรทราบและจดจำไว้เป็นแบบอย่างได้
(คัดบางส่วนและปรับปรุงใหม่จาก บทนำใน พงศาวดารจีนเรื่อง “ไคเภ็ก”) 

พงศาวดารจีนเรื่อง “ห้องสิน”
ห้องสิน เป็นนิยายพงศาวดารจีน ไม่ปรากฏชื่อผู้แปลและเวลาที่แปล  ต้นฉบับมี 43 เล่มสมุดไทย   เรื่องห้องสิน มีชื่อตรงกับฉบับภาษาจีนว่า เฟิงเสินเหยี่ยนอี้ (“นิยายประวัติศาสตร์การสถาปนาเทวดา”)  นักวิชาการด้านวรรณคดีจีนเชื่อว่าเป็นผลงานของสี่ว์จ้งหลิน (ค.ศ. 1560-1630 ผู้มีสมญาว่าจงซานอี้โส่ว [“เฒ่าสำราญแห่งเขาจงซาน”])  บ้างเชื่อว่าผู้แต่งคือนักพรตเต๋าชื่อลู่ซีซิง (ค.ศ. 1520-1606)  นิยายเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องรวม100 ตอน แต่งสมัยราชวงศ์หมิงในราวค.ศ. 1567-1620

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ใน ตำนานหนังสือสามก๊ก  สันนิษฐานว่าเรื่องห้องสิน แปลจากต้นฉบับภาษาจีนในรัชกาลที่ 2  พิมพ์ครั้งแรกเป็นหนังสือ 2 เล่ม เมื่อพ.ศ. 2419 โดยโรงพิมพ์หมอบรัดเล ปัจจุบันมีการพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง เช่น ฉบับโรงพิมพ์ศิริเจริญ (ร.ศ. 123 [พ.ศ. 2447])  ฉบับที่ไม่ปรากฏชื่อโรงพิมพ์ (พ.ศ. 2467)  ฉบับบริษัทสุรามหาคุณ จำกัด พิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน (พ.ศ. 2505)  ฉบับองค์การค้าของคุรุสภา (พ.ศ. 2506)   ฉบับอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงบริรักษ์จรรยาวัตรและนางบริรักษ์จรรยาวัตร (พ.ศ. 2514; ใช้ชื่อเรื่องว่า พงศาวดารจีนเรื่องฮ่องสิน)  ฉบับสำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ (พ.ศ. 2549; ใช้ชื่อเรื่องว่า ห้องสิน สถาปนาเทวดาจีน)  นอกจากนั้นยังมีผู้แปลวรรณคดีเรื่องนี้ใหม่อีกครั้งจากต้นฉบับภาษาจีน คือวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ แปลเป็นหนังสือ 4 เล่มจบ พิมพ์เผยแพร่เมื่อพ.ศ.2551 ใช้ชื่อเรื่องว่า “ฮ่องสิน ประกาศิตแต่งตั้งเทพเจ้า”

เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระเจ้าติวอ๋องแห่งเมืองจิวโก๋เสด็จไปคำนับเทพธิดาหนึงวาสีที่ศาลเจ้า ได้เห็นรูปเทพธิดางดงามก็เขียนโคลงชมโฉมไว้  เทพธิดาถือว่าดูหมิ่น จึงให้เหล่าปีศาจไปทำให้ลุ่มหลงกามคุณ  ปีศาจไปฆ่านางขันกีหญิงที่พระเจ้าติวอ๋องหมายปองแล้วเข้าสิงนาง  พระเจ้าติวอ๋องลุ่มหลงนางจนละเลยราชกิจ  เกียงจูแหยผู้รู้วิชาเต๋าไปทำราชการด้วยก็ถูกปีศาจนั้นปองร้าย จึงไปเป็นที่ปรึกษาของบุนอ๋องเจ้าเมืองไซรกี  เมื่อบุนอ๋องสิ้นชีวิต เกียงจูแหยยกบุตรของบุนอ๋องขึ้นเป็นพระเจ้าบูอ๋อง  แล้วยกทัพไปตีเมืองของพระเจ้าติวอ๋อง  สถาปนาราชวงศ์จิว เชิญพระเจ้าบูอ๋องขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าบูอ๋องฮ่องเต้  จากนั้นเกียงจูแหยเรียกดวงวิญญาณไพร่พลทั้งสองฝ่ายที่ตายในสงครามมาปูนบำเหน็จและปรึกษาโทษ  ดวงวิญญาณผู้มีความชอบจึงได้เป็นเทวดาและดวงดาวประจำที่ต่างๆ (คัดบางส่วนและปรับปรุงใหม่จาก บทนำใน พงศาวดารจีนเรื่อง “ห้องสิน”)

พงศาวดารจีนเรื่อง “ไคเภ็ก” 1 เล่ม ราคา 1,690 บาท
พงศาวดารจีนเรื่อง “ห้องสิน” (1ชุด 3 เล่ม) 3,500 บาท 


สั่งซื้อได้ที่สั่งซื้อได้ที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โทรศัพท์ 0 2062 9905  
และกองงานในพระองค์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ 10303 โทรศัพท์ 0 2280 3581-9 ต่อ 671 โทรสาร 0 2280 1639 
โดยรายได้จากการขายหนังสือจัดสรรเป็นทุนช่วยการศึกษานักเรียนและนักศึกษา ที่มีความอุตสาหะในการศึกษา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และ สั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com  


 

กลับ