ประชาสัมพันธ์

บทความในมติชนออนไลน์ "อิทธิปาฏิหาริย์ ตำนานสร้างโลก ในเรื่องเล่าของจีน"

3 พฤศจิกายน 2566

รูปนำชื่น.jpg

 

อิทธิปาฏิหาริย์
ตำนานสร้างโลก
ในเรื่องเล่าของจีน

ห้องสิน
ถาวร สิกขโกศล
[ปรับปรุงจากหนังสือ ห้องสิน สถาปนาเทวดาจีน สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2549]

 

เรื่อง “ห้องสิน” เป็นยอดแห่งนิยายอิทธิปาฏิหาริย์ของจีน และเป็นต้นแบบของนวนิยายแนวนี้คู่กับเรื่องไซอิ๋ว ทำให้มีเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่นเรื่อง เลียดก๊กเอ๋า ซิยิ่นกุ้ย น่ำปักซ้อง (ขุนศึกตระกูลหยาง) แต่ความสนุกในเชิงอิทธิปาฏิหาริย์แล้วไม่มีเรื่องใดดีเด่นลบเรื่องห้องสินได้

ความสำคัญอีกประการหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ คือเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดของเรื่องไซอิ๋ว เพราะผู้แต่งแต่งเพื่อตอบโต้เรื่องไซอิ๋ว ซึ่งเชียร์พุทธข่มเต๋า แต่ห้องสินเชิดชูเต๋าเหนือพุทธ ที่วิเศษที่สุดคือประมวลที่มาของเทวดาจีนองค์สำคัญไว้มากมาย อ่านแล้วจะรู้ว่าเทพเหล่านี้เป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร ทั้งยังรู้วิธีแก้ “ชง (คือขัด ขัดแย้งกัน)” และ “กี๋ (ข้อห้าม)” อันเป็นอัปมงคลตามความเชื่อชาวจีนได้อย่างชะงัด ทำกิจกรรมสารพัดได้โดยไม่ต้องกลัว “ชง” กลัว “กี๋” อีก

คำว่า “ห้องสิน” อันเป็นชื่อเรื่องนั้น แปลว่า “แต่งตั้งเทพเจ้า” คำว่า “ห้อง” เป็นเสียงจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋วว่า “ฮง” จีนกลางว่า “เฟิง” แปลว่า “แต่งตั้ง สถาปนา” คำว่า “สิน” จีนแต้จิ๋วว่า “ซิ้ง” จีนกลางว่า “เสิน” แปลว่า “เทวดา เทพเจ้า” นิยายเรื่องนี้ชื่อเต็มว่า “ห้องสินเอี้ยนหงี” แต้จิ๋วว่า “ฮงซิ้งเอี่ยงหงี” จีนกลางว่า “เฟิงเสินเอี่ยนอี้” แปลว่า “นิยายเรื่องแต่งตั้งเทพเจ้า” แต่งราวช่วง พ.ศ. 2110–2163 แห่งราชวงศ์หมิง ผู้แต่งเชื่อกันว่าคือ สี่ว์จ้งหลิน

สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. 1911-2187) เป็นยุคทองของวรรณกรรมนิยาย ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “สี่นิยายวิเศษมหัศจรรย์ (ของราชวงศ์หมิง)” ได้แก่ เรื่องสามก๊ก ซ้องกั๋ง (สุยหู่จ้วน) ไซอิ๋ว และจินผิงเหมย (ซึ่งแปลชื่อเรื่องผิดกันมานานว่า “ดอกเหมยในแจกันทอง”ความจริงนั้นเป็นเรื่องของสามสาวคาวโลกีย์ คือ พานจินเหลียน ผิงเสี่ยวเอ๋อร์ และชุนเหมย)

เนื้อเรื่องห้องสินใช้ประวัติศาสตร์ตอนปลายราชวงศ์ซาง (เซียง 1057-503 ปีก่อน พ.ศ.) ถึงตั้งราชวงศ์โจว (จิว 503 ปีก่อน พ.ศ.–พ.ศ. 322) เป็นเค้าเรื่องพระเจ้าติวอ๋องกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซางลุ่มหลงนางขันกี โหดร้ายทารุณต่ออาณาประชาราษฎร์ รังแกเมืองขึ้นทั้งหลาย จิวบุ๋นอ๋อง (โจวเหวินหวาง) ราชาแคว้นจิว (โจว) จำต้องยกทัพธรรมมาปราบ โดยมีเกียงจูแหย (เจียงจื่อหยา) เป็นแม่ทัพ จิวบู๊อ๋อง (โจวอู่หวาง) สืบสานงานต่อจากบิดา ฝ่ายพระเจ้าติวอ๋องมีบุนไท้สือ เป็นแม่ทัพใหญ่ เซียนผู้วิเศษและเทวดาแยกเป็นสองฝ่าย ทองเทียนก้าจู๊กับศิษย์ช่วยฝ่ายพระเจ้าติวอ๋อง โลจู๋ (เล่าจี๊อ) กับง่วนสีเทียนจุ๋นและศิษย์ช่วยฝ่ายพระเจ้าจิวบู๊อ๋อง โดยได้เทพเจ้าจากแดนตะวันตก (คือเทพฝ่ายพุทธ) คือ เจียบอินโตหยิน (อมิตาภพุทธ) และจุ้นเถโตหยิน (มยุรีวิทยาราช) เป็นพันธมิตร

สงครามครั้งนี้ถือเป็นศึกใหญ่ มีทั้งเทวดาและมนุษย์ร่วมกันรบ คล้ายมหากาพย์ อีเลียดของกรีก

ในที่สุดจิวบู๊อ๋องฝ่ายธรรมะชนะ นักรบทั้งสองฝ่ายล้มตายเป็นอันมาก นอกจาก ซินกงป้าแล้ว ทุกคนตายในหน้าที่ ล้วนมีความดีความชอบ

เกียงจูแหยจึงรับเทวโองการจากง่วนสีเทียนจุ๋น แต่งตั้งวิญญาณนักรบและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นดาวหรือเทพประจำถิ่น หรือกิจการต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน จะเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายร้ายขึ้นอยู่กับนิสัยเดิมและกรรมที่ตนกระทำ

เรื่องห้องสิน มีพัฒนาการก้าวหน้ากว่าเรื่องไซอิ๋วในเชิงอิทธิปาฏิหาริย์จนกลายเป็น “ต้นแบบ” อยู่สามประการ คือ

(1) ตัวละครมีรูปร่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มีฤทธิ์เดชต่างกันหลายอย่าง เช่น นาจาเวลาแสดงฤทธิ์มีสามเศียรหกกร หลุยจินจู๊มีปีกและปากเหมือนนก มีค้อนอสุนีบาตเป็นอาวุธ โทเฮงสุนเตี้ยแคระแต่ดำดินคล่องแคล่ว

(2) มีอาวุธวิเศษและสัตว์แปลกๆ นานาชนิด เช่น ถังฟ้าดินของกิมเหลียงเสียบ๊อ ร่มกายสิทธิ์ของเกียงจูแหย อาวุธวิเศษใดก็ทำร้ายลงมามิได้ และอาวุธอื่นๆ อีกมากมาย ตัวเกียงจูแหยขี่ซูปุดเสียงและงายไส ซึ่งล้วนเป็นสัตว์ประหลาดในจินตนาการ

(3) มิเรื่องค่ายกลที่มีฤทธิ์เดชพิลึกพิลั่น ต้องรู้เคล็ดลับทำลายจึงจะตีให้แตกได้ เช่น ค่ายกลจูเซียนติ้น ค่ายกลบ้านเซียนติ้น (ค่ายหมื่นเซียน) สามประการนี้ล้วนแสดงถึงจินตนาการอันเพริศแพร้วของผู้แต่ง เป็นต้นแบบที่นิยายจีนยุคหลังเอาอย่างกันตลอดมา

เรื่องห้องสินฉบับภาษาจีนมีธรรมะของขงจื๊อ พุทธ และเต๋าสอดแทรกอยู่มาก และมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมจีนอีกนานัปการ เรียกว่าครบเครื่องทั้งบุ๋นและบู๊ รูปแบบการประพันธ์เป็นร้อยแก้วสลับร้อยกรอง มีร้อยกรองทั้งสั้นและยาวที่น่าอ่านอยู่มาก เนื้อเรื่องที่อิงประวัติศาสตร์การศึกยุคสร้างชาติ มีทั้งเรื่องของคนและเทพ ข้อคิดเชิงปรัชญาและร้อยกรองที่น่าอ่านแทรกสลับอยู่ตลอดเช่นนี้ เป็นลักษณะของวรรณกรรมมหากาพย์ (Epic) เช่นเดียวกับเรื่องอีเลียดของกรีก มหาภารตยุทธ์ของอินเดีย น่าเสียดายที่ฝีมือทางวรรณศิลป์ของผู้แต่งเรื่องห้องสินแม้จะดีแต่ไม่ถึงขั้น “ยอดเยี่ยม” และเรื่องก็สั้นเกินไป หากเรื่องยาว ลึกซึ้งและประณีตงดงามกว่านี้ เรื่องห้องสินจะเป็น “มหากาพย์” ของจีนอย่างแน่นอน แม้กระนั้นก็ยังเป็นวรรณกรรมชั้นดี มีคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศีลธรรม และศิลปวัฒนธรรม แต่สิ่งสำคัญคืออ่านสนุกที่สุดเรื่องหนึ่ง

เรื่องห้องสินแปลเป็นภาษาไทยราวสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แม้จะตัดร้อยกรองและรายละเอียดบางตอนไปบ้าง แต่ก็ยังสนุกประทับใจคนไทย จึงแพร่หลายมาก จนมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมและศิลปะไทยมากเช่นเดียวกับเรื่องสามก๊ก กล่าวเฉพาะแง่วรรณกรรม เรื่องนี้มีอิทธิพลต่อสุนทรภู่และนักเขียนอื่นไม่น้อย

บทละครเรื่องอภัยนุราชซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานสุนทรภู่นั้น นำเนื้อเรื่องตอนพระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกีสั่งควักลูกตาพระนางเกียงฮองเฮามาแปลงเป็นบทละคร เพราะเนื้อเรื่องเหมือนกันเกือบทุกประการ

ในเรื่องพระอภัยมณีที่มีบทบาทผู้หญิงรบเก่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งนางเสาวคนธ์ มีเรื่องมังคลาตั้งค่ายกลทวาทศราศี แต่นางเสาวคนธ์รู้วิธีทำลายจากทิศาปาโมกข์ ตลอดจนมีเข็มวิเศษโยนไปกลายเป็นนกกายสิทธิ์จิกตีฝ่ายนางละเวง อิทธิฤทธิ์พิลึกพิลั่นเหล่านี้ได้แบบอย่างมาจากเรื่องห้องสินแน่นอน

อนึ่ง การศึกระหว่างฝ่ายลังกาซึ่งมีสังฆราชบาทหลวงเป็นอาจารย์ใหญ่ กับฝ่ายนางเสาวคนธ์ซึ่งมีทิศาปาโมกข์โลกเชษฐ์เป็นอาจารย์ใหญ่ ใช้ทั้งสติปัญญาและอิทธิปาฏิหาริย์สู้กันนั้น ก็คล้ายการศึกระหว่างพระเจ้าติวอ๋องกับฝ่ายพระเจ้าจิวบู๊อ๋อง

นอกจากนี้เรื่องโกมินทร์คำกลอนซึ่งไม่ทราบนามผู้แต่งนั้น ตัวโกมินทร์นำมาจากตัวนาจาแน่นอน เพราะเรื่องตอนต้นเหมือนกันทุกประการ แต่ตอนปลายของเรื่อง โกมินทร์แต่งต่อไปตามแนวเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ของไทย

นอกจากนำเรื่องไปแปลงเป็นเรื่องของไทยแล้ว ยังมีเรื่อง “ห้องสินคำกลอน” ของขุนเสนานุชิต (เจต) แต่งค้างอยู่อีกสามเล่มสมุดไทย แสดงถึงความนิยมของคนไทยที่มีต่อนิยายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด มีกลอนตอนผู้คนวิจารณ์การต่อสู้กันด้วยฤทธิ์เดชเวทมนตร์ แสดงถึงความแพร่หลายของเรื่องห้องสินในหมู่คนไทยได้อย่างดี

แม้จะเป็นเรื่องแนวฤทธิ์เดชเวทมนตร์ แต่บุคคลสำคัญในเรื่องนั้นมีตัวจริงอยู่ในประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

ห้องสิน-เล่ม-1.jpg
ปกห้องสินรวม.jpg

พงศาวดารจีนเรื่อง “ห้องสิน” (1 ชุด 3 เล่ม) 3,500 บาท สั่งซื้อได้ที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โทรศัพท์ 0-2062-9905 และกองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ 10303 โทรศัพท์ 0-2280-3581-9 ต่อ 671 โทรสาร 0-2280-1639 และสั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com

ไคเภ็ก
ถาวร สิกขโกศล
[จาก นำเสนอ ในหนังสือไคเภ็ก ตำนานกำเนิดโลก สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พ.ศ. 2549]

ไคเภ็กเป็นนิยายประวัติศาสตร์ แปลจากเรื่องไคเภ็กเอี้ยนหงี (ไคปี้เอี่ยนอี้) คำ “เอี้ยนหงี” แปลว่า “แสดงความหมาย, อธิบายสาระ” โดยปริยายหมายถึง “นิยายอธิบายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย” เช่นเรื่องสามก๊กเอี้ยนหงี คือนิยายอธิบายสาระของประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก ส่วนคำว่า “ไคเภ็ก” นั้นเป็นคำมรดกร่วมจีน–ไทย คือมีใช้ร่วมกันมาแต่โบราณ คำ “ไค” คือ “ไข” ในภาษาไทย “เภ็ก” ก็คือ “เพิก, เบิก” ซึ่งหมายถึง เลิกขึ้น เปิดออก ชื่อไคเภ็ก ก็คือ “ไขเพิก” หมายถึง “ไขเพิก เบิกโลก” ได้แก่ตำนานการสร้างโลก และวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ตามความเชื่อของคนจีน เป็นนิยายประวัติศาสตร์เชิงเทวปกรณ์เล่มสำคัญของจีนคู่กับเรื่อง ห้องสิน ซึ่งเป็นเรื่องการแต่งตั้งวิญญาณวีรชนให้เป็นเทพองค์ต่างๆ ของจีน

ผู้แต่งเรื่องไคเภ็กฉบับภาษาจีนยังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ แต่ส่วนมากเชื่อว่าโจว อิ๋วแต่งในรัชกาลบ้วนเละ (ว่านลี่ พ.ศ. 2116-2163) ราชวงศ์หมิง เนื้อเรื่องแบ่งเป็น 80 บทสั้นๆ กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่พระศากยมุนีพุทธเจ้าใช้คุณต่อเป็งชาน้า (ที่ถูกเป็น ปี่ต่อเป็งชาน้า คือพระวีตปโสณโพธิสัตว์ มีพระนามอยู่ในบทสวดทำวัตรเช้าของพระจีน) ไปไขเบิกโลกซึ่งมืดคลุ้มอยู่ จากนั้นมีกษัตริย์ปกครองโลกสืบต่อกันมาตั้งแต่ยุค “สามพญา ห้าราชัน” ผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ สร้างและสอนอารยธรรมแก่มนุษย์ อู๋(อีว์) ราชันองค์สุดท้ายในยุคห้าราชัน สร้างระบบชลประทาน แก้ปัญหาอุทกภัยสำเร็จ โอรสได้ครองราชย์สืบมาเป็นราชวงศ์เห่ (เซี่ย) แล้วต่อด้วยราชวงศ์เซียง (ซาง) เรื่องจบลงตอนสิ้นราชวงศ์เซียง ตั้งราชวงศ์จิว (โจว)

ผู้แต่งรวบรวมข้อมูลจากประวัติศาสตร์เล่มสำคัญของจีนหลายเล่ม เช่น พงศาวดารสื่อจี้ แล้วเรียงร้อยด้วยรูปการณ์แบบนิยายประวัติศาสตร์ แต่เนื้อเรื่องถูกต้องตรงตามบันทึกประวัติศาสตร์เกือบทั้งหมด แม้จะมีเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ปนอยู่บ้างก็มิได้ทำให้สาระทางประวัติศาสตร์เสียไป จนได้รับยกยอ่งว่าเป็นนิยายประวัติศาสตร์ชั้นดีเรื่องหนึ่งของจีนที่ชาวบ้านอ่านสนุก เพราะมีเรื่องราวของเทพยุคโบราณตามความเชื่อของจีนรวมอยู่มาก แต่ผู้แปลฉบับภาษาไทยซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนไม่ค่อยเชื่อเรื่องอิทธิฤทธิ์ จึงวิจารณ์ตามทัศนะของท่านว่า “ความในหนังสือไคเภ็กนี้ปดมาก เป็นสำนวนขันๆ พรรณนาไว้หลายอย่าง”

ผู้แปลเรื่องไคเภ็กคือหลวงพิพิธภัณฑพิจารณ์ (ฟัก) บรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ต้นตระกูลโชติกสวัสดิ์ ท่านเป็นจีนฮกเกี้ยน แซ่ลิ้ม (หลิน) ชื่อตัวละครและสถานที่ในเรื่องนี้จึงใช้ภาษาจีนฮกเกี้ยนเช่นเดียวกับเรื่องสามก๊ก แต่มีอิทธิพลเสียงจีนแต้จิ๋วอยูบ้าง เพราะยุครัชกาลที่ 5 แต้จิ๋วเป็นจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทยแล้ว

เรื่องไคเภ็กฉบับแปลภาษาไทย ฉบับที่องค์การค้าคุรุสภาและสำนักอื่นพิมพ์จบลงที่บทที่ 58 ของจีน ไม่ทราบว่าต้นฉบับที่ได้มาขาดหายไปหรือแปลไม่จบลงมาแต่เดิม ขาดบทที่ 59-80 (22 บท) ความในฉบับภาษาไทยจบลงแค่พระเจ้าเซียวคังเต้กอบกู้ราชวงศ์เห่ (เซี่ย) ขึ้นมากใหม่ ในฉบับภาษาจีนมีเรื่องราวต่อไปอีกว่า มีกษัตริย์สืบราชวงศ์เห่ (เซี่ย) ต่อไปอีก 7 องค์ จนถึงเกียดอ๋อง (เจี๋ยหวาง) ลุ่มหลงนางม่วยฮี (เม่ยสี่) จนสิ้นชาติ ถูกทังอ๋องผู้ทรงธรรมโค่นล้ม ตั้งราชวงศ์เซียง (ซาง) มีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์มา 30 องค์ เป็นเวลา 554 ปี ติวอ๋อง (โจว้หวาง) กษัตริย์องค์สุดท้ายลุ่มหลงนางขันกี (ต๋าจี) ทารุณโหดร้าย จึงถูกจิวบู๊อ๋องและพันธมิตรยกทัพธรรมมากำจัด แล้วตั้งราชวงศ์โจวปกครองแผ่นดินจีนสืบมาก ในบทที่ 79-80 ฉบับภาษาจีนกล่าวถึงเรื่องจิวบู๊อ๋อง (โจวอู่หวาง) ทำศึกปราบติวอ๋อง (โจว้หวาง) จนถึงตั้งราชวงศ์จิว (โจว) มีผู้นำเหตุการณ์ตอนนี้แต่งขยายความอย่างละเอียดพิสดารเป็นเรื่อง ห้องสิน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องต่อจากเรื่องไคเภ็ก เรื่องไคเภ็กกล่าวถึงการสร้างโลก สร้างมนุษย์วิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เรื่องห้องสินกล่าวถึงศึกติวอ๋องกับจิวบู๊อ๋องเทวดาและเซียนผู้วิเศษแยกเป็นสองพวก เข้าช่วยแต่ละฝ่าย (คล้ายศึกเทวดาครั้งสงครามกรุงทรอยในมหากาพย์อีเลียดของกรีก) ผู้ตายในสงครามครั้งนั้นได้รับสถาปนาจากง่วนสีเทียนจุน (หยวนสื่อเทียนจุน เทียบได้กับพระพรหมของอินเดีย) ให้เป็นเทพประจำกิจการต่างๆ

ฉะนั้นท่านที่สนใจประวัติศาสตร์จีนและเทวดาจีนจึงไม่ควรพลาดจากการเป็นเจ้าของเรื่องไคเภ็ก เพราะเป็นต้นเรื่องของประวัติศาสตร์จีนและเทวดาจีนทั้งปวง และขอเสนอให้ซื้อเรื่อง ห้องสิน ไว้ด้วยเพื่อให้ครบชุด

001.jpg
002.jpg

พงศาวดารจีนเรื่อง “ไคเภ็ก” 1 เล่ม ราคา 1,690 บาท
สั่งซื้อได้ที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โทรศัพท์ 0-2062-9905 และกองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ 10303 โทรศัพท์ 0-2280-3581-9 ต่อ 671 โทรสาร 0-2280-1639
และสั่งซื้อได้ที่ www.matichonbook.com

กลับ